บานพับภาพ "การประกาศของเทพแห่งเอ็กซ์" ของ บาร์เตเลอมี_ฟัน_ไอก์

บานพับภาพกลาง การประกาศของเทพแห่งเอ็กซ์

บานพับภาพสาม การประกาศของเทพแห่งเอ็กซ์ ที่วาดระหว่างปี ค.ศ. 1441 ถึงปี ค.ศ. 1445 ปัจจุบันถูกแยกเป็นชิ้นๆ ระหว่าง เอ็กซ์-ออง-โปรวองซ์ บรัสเซลส์ อัมสเตอร์ดัม และร็อตเตอร์ดัม บานข้างถูกตัดเป็นสองชิ้น ผู้จ้างงานชิ้นนี้เป็นพ่อค้าผ้าเพื่อนผู้รู้จักพ่อเลี้ยงของบาเธเลมี เป็นงานที่รวมอิทธิพลของจิตรกรรมเนเธอร์แลนด์สมัยต้นของโรแบร์ต แคมแพง และ ยาน ฟาน เอค และงานของเคล้าส์ ซลูเตอร์ (Claus Sluter) ที่ทำงานอยู่ที่ดิจองและ นิโคโล อันโตนิโอ โคลันโตนิโอ (Niccolò Antonio Colantonio) จากเนเปิลส์ แต่บางท่านก็สันนิษฐานว่าสองคนหลังน่าจะเป็นผู้ได้รับอิทธิพลจากบาเธเลมีเสียมากกว่าที่จะเป็นผู้มีอิทธิพลต่อ รายละเอียดสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ใช้ภายในภาพเป็นรายละเอียดที่ละม้ายสัญลักษณ์ของการประกาศของเทพของยาน ฟาน เอคและศิลปินในกลุ่มเดียวกันใช้ เช่นในภาพ"การประกาศของเทพ" (วอชิงตัน) ภาพนี้และภาพเหมือนที่เขียนเมื่อปีค.ศ. 1456 (ลิคเค็นชไตน์คอลเล็คชัน, เวียนนา) และเศษภาพพร้อมกับกางเขนที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ เป็นจิตรกรรมแผงเพียงเท่านั้นที่เหลือที่เชื่อกันว่าเป็นงานของบาเธเลมี งานสมัยหลังเป็นงานหนังสือวิจิตรทั้งสิ้นจากการอุปถัมภ์ของพระเจ้าเรอเนแห่งเนเปิลส์

พระเจ้าเรอเน (ค.ศ. 1409 - ค.ศ. 1480) ทรงเป็นเจ้านายราชวงศ์วาลัวส์ผู้อ้างสิทธิในการครองดินแดนต่างๆ อย่างซับซ้อน รวมทั้งสิทธิที่จะเป็นกษัตริย์แห่งเนเปิลส์ซึ่งถูกขับโดยกษัตริย์แห่งอารากอนในปี ค.ศ. 1442 บางหลักฐานกล่าวว่าบาเธเลมีอาจจะไปทำงานอยู่ที่เนเปิลส์หรือมีอิทธิพลต่อผลงานของนิโคโล อันโตนิโอ โคลันโตนิโอ และ อันโตเนลโล ดา เมสสินา ศิลปินของเนเปิลส์ เรเนชอบพำนักอยู่ทางใต้ของฝรั่งเศสหรือบริเวณลุ่มแม้น้ำลัวร์และเป็นกวีและศิลปินผู้มีความสามารถพอตัวจนเดิมเชื่อกันว่าเป็นเจ้าของผลงานหนังสือวิจิตรหลายชิ้นที่ในปัจจุบันเชื่อกันว่าเป็นผลงานของบาเธเลมี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1447 บาเธเลมีปรากฏในหลักฐานในฐานะ "ช่างเขียนประจำราชสำนัก" ("peintre et varlet de chambre") ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับยาน ฟาน เอคในราชสำนักของ ฟิลลิปเดอะโบลด์ ดยุคแห่งเบอร์กันดี (Philip the Bold) และ พี่น้องลิมบวร์ก(Limbourg brothers) ในราชสำนักของดยุคแห่งแบร์รี ตำแหน่ง "ประจำราชสำนัก" เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและฐานะที่ถือกันว่าผู้ได้รับแต่งตั้งได้เป็นผู้ได้รับความใกล้ชิดกับผู้แต่งตั้งเช่นเรอเน บาเธเลมีเดินทางติดตามเรอเนไปแคว้นอากีแตนและอองเชส์ (Angers) หลายครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 1447 ถึงปี ค.ศ. 1449 ห้องเขียนภาพของบาเธเลมีอยู่ติดห้องพักส่วนตัวของเรอเนซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่าทั้งสองน่าจะมีความใกล้ชิดกันมากกว่าปกติ หลักฐานสุดท้ายปรากฏในปี ค.ศ. 1469 กล่าวว่าบาเธเลมีได้รับเงินเดือนพร้อมทั้งคนรับใช้หรือผู้ช่วยสามคนและม้าสามตัว นอกจากนั้นยังมีหลักฐานว่าบาเธเลมีมีชีวิตอยู่ต่อมาถึงปี ค.ศ. 1476[6]